ก้าวสู่การเป็นผู้ดูแลระบบ Part.1

การที่จะได้ทำงานในสายงานของผู้ดูแลระบบเครือข่ายในองค์กร เป็นงานในฝันของหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่จบใหม่ หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานทางด้านไอทีที่ต้องการเปลี่ยนสายงานหรือมาจับงานด้านเครือข่ายอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่างานทางสายนี้เป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควร เพราะจะเป็นงานที่จะต้องแบกรับความต้องการของบริษัทและต้องรับผิดชอบข้อมูลต่างๆของบริษัทหรือองค์กรอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆจะเลือกคนเข้ามาทำงานในสายงานด้านนี้นั้นมักจะเลือกผู้ที่เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ความสามารถเพื่อพิจารณาเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านเทคนิค ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การทำงานเป็นทีม หรือแม้กระทั่งด้านคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องในสายงานดูแลระบบเครือข่ายนั้นมีอยู่หลายสายด้วยกัน อยู่ที่ว่าในแต่ละบริษัทจะกำหนดหรือตั้งว่าเป็นตำแหน่งงานอะไร ยกตัวอย่างที่นิยมเรียกกันก็จะมีดังนี้

  • วิศวกรเครือข่าย (Network Engineer)
  • วิศวกรระบบ (System Engineer)
  • นักบริหารเครือข่าย (Network Administrator)
  • นักบริหารระบบปฏิบัติการ (System Administrator)
  • วิศวกรด้านไอที (IT Engineer)
  • นักบริหารความปลอดภัยสารสนเทศ (IT Security Administrator)
  • นักจัดการความปลอดภัยสารสนเทศ (IT Security Operations)
  • นักดูแลความปลอดภัยระบบสารสนเทศ (IT Security)

โดยที่หน้าที่หลักของตำแหน่งงานที่กล่าวมาก็จะมีความคล้ายคลึงกัน โดยจะทำหน้าที่หลักคือดูแลระบบเครือข่ายในองค์กร ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ตามลักษณะหรือขนาดขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ และจะต้องมีความรู้หลากหลายด้านด้วยกัน เช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์เครือข่าย สำรองและกู้ข้อมูล ความมั่นคง ความปลอดภัยของระบบ และต้องรู้เกี่ยวกับระบบงานคลาวด์ และหน้าที่ของผู้ที่จะต้องการก้าวมาเป็นผู้ดูแลระบบก็จะมีดังนี้

1.ออกแบบระบบเครือข่ายในองค์กร

จะต้องเริ่มตั้งแต่การเลือก Tools ในการออกแบบ การวางตำแหน่งอุปกรณ์เครือข่าย การวางระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น IDS, IPS และ Firewall หรือแม้กระทั่งการสำรองข้อมูล

2.ติดตั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

คือการเลือกเครื่องเซิฟเวอร์เข้ามาใช้งานในองค์กร รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้งานต่างๆบนเครื่องเซิฟเวอร์ การติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มเติมในอนาคต โดยในการเลือกแต่ละอย่างมาใช้ต้องทำด้วยความรอบครอบ ต้องมีการศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลนำสิ่งที่ดีที่สุดและคุ้มค่าที่สุดมาใช้ในองค์กร

3.การบริหารบัญชีผู้ใช้งาน

การดูแลผู้ใช้งานในองค์กรถือเป็นเรื่องหลักที่ผู้ดูแลระบบจะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี ตั้งแต่หลักการติดตั้งระบบเสร็จใหม่ๆ การบริหารบัญชีผู้ใช้งานจะมีอยู่ 2 ลักษณะ อยู่ที่ว่าผู้ดูแลระบบจะเลือกใช้งานแบบไหน

  • Peer to Peer (Workgroup) ลักษณะการเพิ่มบัญชีผู้ใช้งานแบบนี้ สามารถทำได้โดยง่าย เหมาะสำหรับองค์กร หรือธุรกิจขนาดเล็ก การเพิ่มบัญชีผู้ใช้งาน สามารถเพิ่มได้โดยตรงในระบบปฏิบัติการ โดยผ่านทาง Local User and Groups
  • Client/Server (Domain) ระบบเครือข่ายลักษณะนี้จะเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยสูง ในการเพิ่มบัญชีผู้ใช้งานจะมีการจัดการผ่านระบบบริหารจัดการผู้ใช้งานโดยเฉพาะ